อปพร. เป็นอาสาสมัครที่เกิดขึ้นถูกต้องตามกฎหมาย พระราชบัญญัติป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน พ.ศ. 2522 มาตรา 26 ซึ่งกำหนดให้จัดตั้งหน่วย อปพร. ขึ้นทุกอำเภอละเขตในกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เป็นผู้ช่วยเหลือสนับสนุนภาคราชการในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยมิได้หวังผลประโยชน์ตอบแทนเป็นผู้เสียสละทั้งเวลาและกำลังกาย มีการฝึกอบรมตั้งแต่ปี 2531 ถึงปัจจุบัน มี อปพร. แล้ว 981,520 คน (ณ 31 ก.ย. 2550) ซึ่งกระทรวงมหาดไทยมีเป้าหมายให้มีจำนวน 1 ล้านคน หรือ 2% ของประชากรในแต่ละพื้นที่ อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน หรือ อปพร. มีบทบาทภารกิจหน้าที่เป็นไปตามพระราชบัญญัติป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน พ.ศ. 2522 และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหน่วยอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน พ.ศ.2475 ซึ่งกำหนดไว้ให้มีองค์กรดูแล รับผิดชอบ ดังนี้
1. คณะกรรมการอำนวยการ ศูนย์ อปพร. กลาง โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธาน อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นกรรมการและเลขานุการ
2. ศูนย์ อปพร. กลาง โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นศูนย์ อปพร. กลาง และอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. กลาง และมีผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 12 เขต เป็นผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. เขต
3. ศูนย์ อปพร. จังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. จังหวัด
4. ศูนย์ อปพร. เขตในกรุงเทพมหานคร โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. กรุงเทพมหานคร และศูนย์ อปพร. เขตในกรุงเทพมหานคร โดยผู้อำนวยการเขต เป็นผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. เขตในกรุงเทพมหานคร
5. ศูนย์ อปพร. อำเภอ โดยนายอำเภอ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. อำเภอ
6. ศูนย์ อปพร. เทศบาล โดยนายกเทศมนตรี เป็นผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. เทศบาล
7. ศูนย์ อปพร. องค์การบริหารส่วนตำบล โดยนายกองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. องค์การบริหารส่วนตำบล
8. ศูนย์ อปพร. เมืองพัทยา โดยนายกเมืองพัทยา เป็นผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. เมืองพัทยา
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะศูนย์ อปพร. กลางได้พิจารณาเห็นว่า การปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพและเข้มแข็งของสมาชิก อปพร. จะส่งผลต่อศักยภาพในการปฏิบัติงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของส่วนราชการ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในฐานะหน่วยงานหลักในการเผชิญเหตุและป้องกันแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ จำเป็นจะต้องมีแนวทางบริหารกิจการศูนย์ อปพร. ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้อาสาสมัครเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
อำนาจหน้าที่ของ อปพร.
1.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
2.ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบณ์ภัยในพื้นที่
3.รักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่
4.สงเคราะห์ผู้ประสบภัย